ในช่วงวันที่ 4-6 พฤษาคม 2562 ที่ผ่านมา ทางประเทศไทยได้ผ่านพิธีสำคัญ คือ พระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ 10 ซึ่งพิธีนี้มีประวัติความเป็นมาสำคัญอย่างไรบ้าง ดังนั้นวันนี้จึงมานำเสนอข้อมูลของพระราชพิธีสำคัญนี้เพื่อเป็นความรู้กัน
“พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” เป็นโบราณราชประเพณีที่มีขึ้นเพื่อการสืบราชสันตติวงศ์ เพื่อความเป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์หลังจากขึ้นทรงราชย์ เป็นพิธีที่ได้รับรับอิทธิพลมาจากคติอินเดีย เราจึงเห็นได้ว่าพระราชพิธีจะมีลัทธิพราหมณ์และลัทธิทางพุทธศาสนา (หินยาน) ผสมกันอยู่ในพระราชพิธีค่ะ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นโบราณราชประเพณีที่มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย (ศิลาจารึกวัดศรีชุม) และยังคงถือปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน การพระราชพิธีบรมราชภิเษกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ได้ยึดแบบอย่างการพระราชพิธีตามสมัยกรุงศรีอยุธยา มีความสำคัญคือ “น้ำอภิเษก” ซึ่งน้ำอภิเษกที่ทรงรับนั้น เป็นน้ำที่ได้พลีกรรม ตักมาจากสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่ในประเทศไทย มีความหมายว่าเพื่อให้พระมหากษัตริย์ปกป้อง คุ้มครองประชาชนในทั้ง ๘ ทิศ (ทิศตะวันออก,ทิศตะวันออกเฉียงใต้,ทิศใต้,ทิศตะวันเฉียงใต้,ทิศตะวันตก,ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ,ทิศเหนือ,ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ)
ตามตำราพราหมณ์น้ำอภิเษกใช้น้ำจากแม่น้ำ ๕ สาย ในชมพูทวีปหรือในประเทศอินเดีย ได้แก่ แม่น้ำคงคา แม่น้ำมหิ แม่น้ำยมนา แม่น้ำอจิรวดีและแม่น้ำสรภู ทั้งหมดเรียกว่า “ปัญจมหานที” ในศาสนาพราหมณ์ฮินดูเชื่อว่าแม่น้ำทั้ง ๕ สายนั้นไหลมาจากเขาไกรลาศ ซึ่งเป็นที่สถิตของพระอิศวร จึงถือว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์และนำมาใช้ในการพระราชพิธีต่างๆ เช่น น้ำสรงพระมุรธาภิเษก น้ำอภิเษก และน้ำพระพุทธมนต์ เป็นต้น
จากหลักฐานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในสมัยกรุงสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยา ไม่ปรากฏว่ามีการนำน้ำจากปัญจมหานทีมาใช้ แต่ปรากฏหลักฐานว่าน้ำสรงพระมุรธาภิเษกในสมัยกรุงศรีอยุธยาใช้น้ำจาก สระเกษ สระแก้ว สระคา สระยมนา ครั้งสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ในรัชกาลที่ ๑ รัชกาลที่๒ รัชกาลที่๓ และรัชกาลที่๔ นอกจากใช้น้ำจากสระ ๔ สระดังกล่าวแล้ว ยังใช้น้ำจากแม่น้ำสำคัญในประเทศไทยเพิ่มเติมอีก ๕ สาย คือ แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำราชบุรีและแม่น้ำเพชรบุรี เรียกว่า เบญจสุทธคงคา โดยอนุโลมตามเบญจมหานทีในชมพูทวีป
สำหรับน้ำอภิเษกที่ใช้ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่๑๐ เป็นน้ำจากสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำคัญ แบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ น้ำสรงพระมุรธาภิเษกจากเบญจสุทธคงคาและน้ำจากสระ ๔ สระ และน้ำอภิเษกเป็นน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ใน ๗๖ จังหวัดซึ่งบางจังหวัดมีมากกว่า ๑ แห่ง และจากหอศาสตราคม ในพระบรมมหาราชวัง รวม ๑๐๘ แห่ง
ลำดับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ถูกแบ่งเป็น ๔ ขั้นตอน ได้แก่ การเตรียมพระราชพิธี พระราชพิธีเบื้องต้น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และพระราชพิธีเบื้องปลาย
การเตรียมพระราชพิธี
มีการทำพิธีตักน้ำและที่ตั้งสำหรับถวายเป็นอภิเษกและน้ำสรงพระมุรธาภิเษก จารึกพระสุพรรณบัฏ ดวงพระบรมราชสมภพและแกะพระราชลัญจกร เตรียมตั้งเครื่องบรมราชาภิเษก และเตรียมสถานที่จัดพระราชพิธี
— ขอขอบคุณข้อมูลจาก https://www.weddinglist.co.th/blog/king/ —
ซึ่งพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 นี้ เป็นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ขึ้นเป็น พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรีอย่างสมบูรณ์ตามโบราณราชประเพณี ระหว่างวันที่ 4-6 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ณ พระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร และนับเป็นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรกในประเทศไทยที่มีการถ่ายทอดผ่านทางสถานีโทรทัศน์ โดยทุกสถานีจะเชื่อมสัญญาณการถ่ายทอดสดจากโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย