Wedding Planning Guide & Honeymoon Tips | Phuket Beach Weddings

10 ความเชื่อเรื่องการแต่งงานของไทย

การแต่งงานถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหญ่ และมีความสำคัญสำหรับคู่หนุ่มสาว เปรียบเสมือนการเริ่มต้นชีวิตใหม่ของคนสองคน ที่มีความเกี่ยวข้องกับ ความเชื่อ ประเพณี วัฒนธรรม ที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งแต่ละขั้นตอนที่เกิดขึ้นในพิธีแต่งงาน ล้วนแล้วมีความหมายดีๆแฝงอยู่ เพื่อช่วยสร้างความเป็นสิริมงคลให้คู่บ่าวสาวได้ครองรักกันอย่างยั่งยืนยาวนาน วันนี้เราจึงนำ 10 ความเชื่อเรื่องการแต่งงานของไทยที่ควรรู้มาให้อ่านกัน จะมีอะไรบ้างนั้น มาดูพร้อมๆกันเลย



ฤกษ์มงคล

อย่างที่รู้กันว่าพิธีการแต่งงานแบบไทย มีความเชื่อเรื่องการเลือกวันหรือที่เรียกกันว่าฤกษ์งามยามดีนั่นเอง ไม่ว่าจะเริ่มตั้งแต่การเจรจาสู่ขอ วันหมั้น วันแต่งงาน รวมไปถึงวันปลูกเรือนหอ แม้กระทั่งส่งตัวเจ้าสาวก็ต้องตรวจสอบฤกษ์มงคล เพื่อให้เป็นเวลาที่เหมาะสมในการเริ่มต้นชีวิตคู่ทั้งสองคน


มาลัยบ่าวสาวในพิธีแต่งงาน

การจัดงานแต่งงานตามประเพณีแบบไทยที่ได้สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน คือ มาลัยคล้องคอหรือมาลัยบ่าวสาว ที่จะคล้องให้กับคู่แต่งงานทั้งผู้ชายและผู้หญิง เพื่อเป็นสิริมงคลในชีวิตคู่ โดยมีความเชื่อว่าให้ใช้มาลัยบ่าวสาวคู่เดียวกันทั้งพิธีเช้าและเย็น เพื่อที่บ่าวสาวจะใช้ชีวิตคู่ร่วมกันอย่างราบรื่น



จำนวนพระสงฆ์

ตามธรรมเนียมไทย จะต้องมีการนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ เพื่อความเป็นสิริมงคลในการเริ่มต้นชีวิตคู่ ซึ่งในสมัยก่อนจะนิยมนิมนต์พระมาทำพิธีเป็นจำนวนคู่ เช่น 4 หรือ 8 รูป แต่ปัจจุบันประเทศไทยนิยมนิมนต์มา 9 รูป เพราะเชื่อว่าเลข 9 เป็นตัวเลขมงคล หมายถึงความเจริญก้าวหน้า


ขบวนขันหมาก

มีความเชื่อที่ว่า เมื่อได้ฤกษ์ยกขันหมาก ให้เชิญผู้ใหญ่ที่เจ้าบ่าวให้ความเคารพและประสบความสำเร็จในชีวิตครอบครัวมาเป็นคนนำขบวนขันหมาก เพื่อให้ชีวิตคู่ของเจ้าบ่าวและเจ้าสาวประสบความสำเร็จเช่นเดียวกัน และอีกหนึ่งความเชื่อคือ เมื่อขบวนขันหมากแห่มาถึงแล้ว พ่อแม่ของฝ่ายเจ้าสาวไม่ควรเผชิญหน้ากับขบวนแห่ขันหมาก ด้วยความเชื่อที่ว่าในอนาคตอาจมีเรื่องไม่ถูกกัน



การรดน้ำสังข์

ในส่วนของพิธีรดน้ำสังข์ มีความเชื่อว่าหลังจากเจ้าบ่าวและเจ้าสาวทำขั้นตอนรดน้ำเสร็จเรียบร้อยแล้ว ฝ่ายไหนที่ลุกขึ้นยืนก่อน เชื่อว่าฝ่ายนั้นจะเป็นผู้ที่อยู่เหนือคู่ครองของตน ดังนั้นจึงมีวิธีแก้เคล็ดโดยการให้คู่บ่าวสาวช่วยกันประคองอีกฝ่ายให้ลุกขึ้นพร้อมกัน เพื่อให้ความหมายว่าช่วยกันประคับประคองชีวิตคู่ไปด้วยกันนั่นเอง


มงคลแฝดสวมศีรษะบ่าวสาว

การสวมมงคลแฝดไว้บนศีรษะของคู่บ่าวสาวตอนทำพิธีรดน้ำสังข์ เชื่อว่าเป็นการเชื่อมโยงให้คู่บ่าวสาวเป็นหนึ่งเดียวกันราวกับมงคลแฝดที่สวมศีรษะ



การสวมแหวน

ในขั้นตอนการสวมแหวนมีความเชื่อที่ว่า ถ้าหากเจ้าบ่าวต้องให้เจ้าสาวช่วยสวมแหวน อาจเป็นเพราะทำแหวนหล่น หรือสวมแหวนไม่สุด เชื่อว่าเจ้าสาวจะมีอำนาจเหนือเจ้าบ่าว


อาหารมงคล

อาหารเป็นเรื่องสำคัญมากในงานแต่งงาน โดยมีความเกี่ยวข้องกับความมงคล โดยอาหารมงคลได้แก่ ห่อหมก สื่อความหมายให้คู่บ่าวสาว เออออห่อหมกไปกันได้ด้วยดีในทุกเรื่อง, ขนมจีบ หมายถึงความรักหวานชื่นเหมือนตอนจีบกันใหม่ๆ, ข้าวเหนียง สื่อถึงความรักที่เหนียวแน่น มั่นคง เป็นต้น


อาหารต้องห้าม

อาหารต้องห้ามและไม่ควรจัดเสิร์ฟในงานแต่งงาน ได้แก่ ต้มยำ เนื่องจากเป็นอาหารรสเผ็ดร้อน เชื่อว่าจะทำให้ชีวิตคู่เกิดการทะเลาะกันอย่างร้ายแรง, ปลาร้า เป็นของหมักดองมีกลิ่นเหม็น เชื่อว่าจะทำให้ความรักของทั้งคู่โดนดอง จนเบื่อและเหม็นหน้ากัน, หอยขม ด้วยชื่อสื่อถึงความรักที่ขมขื่น จึงไม่นิยมนำหอยขมมาทำเป็นอาหารในงานมงคล เป็นต้น



พิธีปูที่นอน

พิธีปูที่นอนนั้นมักจะเชิญผู้ใหญ่ที่ประสบความสำเร็จในชีวิตคู่ และน่าเคารพนับถือมาทำการปูที่นอนให้คู่บ่าวสาว โดยมีความเชื่อว่าจะทำให้คู่บ่าวสาวจะครองเรือนกันอย่างมีความสุขและประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับผู้ที่ทำการปูที่นอนให้นั่นเอง


ทั้งนี้หากใครที่กำลังมองหาสถานที่จัดงานแต่งงานทาง Thavorn Hotels & Resorts มีสถานที่จัดงานแต่งงานริมทะเลในภูเก็ตมาแนะนำ พร้อมกับ แพ็คเกจงานแต่งงาน ให้เลือกหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นแบบไทยหรือแบบสากล อีกทั้งยังมีทีมงานมืออาชีพที่จะช่วยเนรมิตให้งานแต่งงานของคุณออกมาสมบูรณ์แบบ